ชีวิตคู่ไปต่อไม่ได้ บอกลูกอย่างไรให้เข้าใจ และยอมรับ
August 25, 2021ฐานะสามีภรรยาจบลง แต่ความเป็นพ่อแม่ต้องไม่จบด้วย
ชีวิตคู่แน่นอนว่ามันมีอะไรมากกว่าความรัก เพราะมันจะต้องอาศัยทั้งความเข้าใจ การยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่คิดเล็กคิดน้อย และการหันหน้าเข้าคุยกันในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ท้ายที่สุดก็มักจบลงด้วยการแยกทาง
แต่บางครั้งการแยกทางหรือการหย่าร้างก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป ตราบใดที่คุณมีสักขีพยานรักอย่างลูกน้อยด้วยแล้ว คงต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดี ๆ ว่าจะยอมเริ่มต้นกันใหม่ ปรับจูนกันใหม่ เพื่อให้ความสัมพันธ์ครอบครัวยังดีเหมือนเดิม แต่หากทำใจยอมรับว่านี่มันเดินทางมาถึงทางตันแล้วจริง ๆ คุณจะมีวิธีรับมือและบอกลูกรักอย่างไรให้เข้าใจและยอมรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
สถานการณ์โควิดยิ่งผลักดันให้การใช้ชีวิตคู่ยากขึ้น
ก่อนอื่นขอเกริ่นก่อนว่า เราไม่ได้มองว่าการแยกทางหรือการหย่าร้างเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะแต่ละคนเจอะเจอปัญหาที่แตกต่างกัน เพราะงั้นแล้วการแยกทางอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับหลาย ๆ ฝ่าย บางคู่อาจจะเจอปัญหาที่หนักมานาน และช่วยกันประคับประคองกันจนเกือบจะไม่ไหว แต่ท้ายสุดเมื่อเจอปัญหาโควิดรุมเร้า มันเลยทำให้ความรู้สึกเหล่านี้ระเบิดออกมา

สถานการณ์โควิดยิ่งผลักดันให้การใช้ชีวิตคู่ยากขึ้น
สาเหตุที่ต้องบอกว่าโควิดมีส่วนสำคัญในการเลิกรา เป็นเพราะในช่วงนี้หลายบ้านอาจจะต้องอยู่ร่วมกันทั้งวัน (จากเดิมมีเวลาเจอกันแค่ตอนเลิกงาน) ทำให้บางครั้งจะหยิบจับอะไรก็ดูเป็นเรื่องที่ขัดตาอยู่เสมอ เมื่ออีกฝ่ายเริ่มมีการบ่นหรือด่าทอขึ้นมา ความรู้สึกไม่ดีของทั้งฝ่ายก็จะค่อย ๆ สะสม หรือบางคู่อาจไม่ได้มีปัญหาดังกล่าว แต่กลับเจอปัญหาใหญ่อย่างเรื่อง การเงินและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงทุกวัน ตกงาน ความเครียดสะสม ได้รับเงินไม่เต็มจำนวน เมื่อเกิดเป็นปัญหาจึงคิดว่าแยกทางกันอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ จะได้ลดน้อยลง รวมไปถึงเหตุผลนานาประการที่เป็นเหตุให้เลิกกันได้
อาจารย์มหิดลแนะ 5 ขั้นตอน ทำอย่างไรเมื่อชีวิตคู่มาถึงทางตัน
แม้คุณจะคบกันมา 20 หรือ 30 ปี น้อยกว่านั้น หรือมากกว่านั้น ก็ใช่ว่าจะรักษาความสัมพันธ์ได้ดีทุกคู่ แต่ถึงแม้ความสัมพันธ์ของคู่สามี – ภรรยา จะไม่ดีเท่าที่ควร (หรืออาจจะร้ายไปเลย) แต่ความสัมพันธ์ความเป็นพ่อ – แม่ คุณจะต้องทำมันให้ดีที่สุด
การที่คุณเลิกรากันต้องไม่ทำให้เด็กคิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่แยกทางกัน เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะกลายเป็นปมในใจเด็กที่จะถูกฝังไปเรื่อย ๆ รักษาไม่หาย แต่คุณจะบอกลูกอย่างไรล่ะ ว่าฐานะสามีภรรยาของพ่อกับแม่กำลังจะจบลงแล้ว?

อาจารย์มหิดลแนะ 5 ขั้นตอน ทำอย่างไรเมื่อชีวิตคู่มาถึงทางตัน
ประเด็นนี้ อ.นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการแนะนำไว้ในรายการ Well-Being มหิดล พอดแคสต์ เรื่อง ‘ทำอย่างไรเมื่อชีวิตคู่มาถึงทางตัน’ โดยได้แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
สร้างความมั่นใจให้กับลูก
- การสร้างความมั่นใจให้ลูก คือคุณต้องทำให้ลูกรู้ว่าคุณยังคงเป็นพ่อแม่ที่รักเขาเหมือนเดิม ลูกยังมีคุณค่าเสมอ พ่อแม่ต้องการลูกเสมอ เพราะคนเราหากรู้ตัวว่าเป็นที่รักและเป็นที่ต้องการ เขาจะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่หากเมื่อใดที่รู้สึกว่าคุณค่าของตัวเองลดน้อยลง ก็จะทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงการมีอยู่
บอกความจริงเกี่ยวกับการแยกทาง
- ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาตามวัยของเด็ก ควรบอกด้วยเหตุผลที่หลีกเลี่ยงการตำหนิฝ่ายตรงข้าม และจะเป็นเรื่องดีมากหากพ่อแม่มาบอกลูกพร้อม ๆ กัน แต่ส่วนใหญ่ที่จบกันไม่สวยก็จะมาประชดประชันให้ลูกฟัง หากเป็นเช่นนั้นเด็กก็จะจำพฤติกรรมและเกิดทัศนคติด้านลบทันที

ฐานะสามีภรรยาจบลง แต่ความเป็นพ่อแม่ต้องไม่จบด้วย
รักษาความเป็นอยู่ของลูกให้คงอยู่สภาพเดิม (มากที่สุด)
- ตอนที่พ่อแม่ยังอยู่ด้วยกันลูกเคยได้รับอะไร ตอนที่แยกทางกันก็ควรได้รับสิ่ง ๆ นั้นเหมือนเดิม เช่น ไปเที่ยวช่วงวันหยุด, เรียนพิเศษ, ไปว่ายน้ำ, ไปเดินเล่น ฯลฯ
ปฏิบัติกับลูกด้วยความรักเหมือนเดิม
- เด็กทุกคนต้องการความรักและความหวังดี ดังนั้นต่อให้คุณเลิกกันไป ก็ต้องแสดงออกว่าคุณยังรักเขามากเหมือนเดิมและจะไม่มีวันเปลี่ยน
นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยอีกด้วยว่า (อ้างอิง มติชนออนไลน์) พบอัตราการหย่าร้างสูงในกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายที่เคยอยู่ในครอบครัวที่เกิดการหย่าร้างมาก่อน เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สร้างบาดแผลนี้ไว้ในใจเด็ก พูดคุยกัน และอธิบายเขาให้เข้าใจ
ที่สำคัญในกรณีที่แยกบ้านกันอยู่ไปแล้ว อีกฝ่ายควรจะเดินทางมาหาลูกที่บ้านหลังเดิมเป็นประจำ เพื่อให้พวกเขารู้ว่าคุณไม่ทิ้งเขาไปไหน ยังคงอยู่ในฐานะพ่อหรือแม่เหมือนเดิม หากเป็นไปได้ในเด็กที่ต้องมีการฉีดวัคซีน ตรวจเช็คสุขภาพประจำปีด้วยประกันสุขภาพ ที่โรงพยาบาล พ่อแม่ก็ควรเดินทางไปให้กำลังใจเขาเหมือนที่เคยทำจะดีที่สุด